จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ทีมการแพทย์ต้องประสบปัญหาการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล เตียงไม่เพียงพอ และผู้ป่วยบางรายก็ไม่ได้รับการรักษาในทันที มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในด้านการรักษาจากแพทย์ การปรึกษาแพทย์ การจ่ายยา นี่คือ New Normal อย่างแท้จริงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการนำเทคโนโลยี Telemedicine มาใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 สามารถตอบโจทย์กับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
Telemedicine คืออะไร
Telemedicine แปลเป็นภาษาไทยว่า การโทรเวชกรรม หรือระบบแพทย์ทางไกล คือ การนำเทคโนโลยีที่ช่วยทีมแพทย์และผู้ป่วยผ่านการสื่อสารแบบ Video conference แบบ Real time โดยทีมแพทย์และผู้ป่วยสามารถพูดคุยเห็นหน้ากันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการวินิจฉัย การรักษา และป้องกันโรค ที่ง่าย ไร้ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา สถานที่
ข้อดีของ Telemedicine
-
ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล สามารถนำเทคโนโลยี Telemedicine มาใช้ในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง พร้อมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทางไปพบแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้จากที่บ้าน
-
การเข้าถึงการรักษา
การนำเทคโนโลยี Telemedicine มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยนั้น ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาจากทีมแพทย์ได้อย่างสะดวก ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาและวินิจฉัยจากทีมแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
-
บริการ 24 ชั่วโมง
การรักษาผู้ป่วยด้วย Telemedicine สามารถทำการรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะจะมีทีมแพทย์ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลตลอด ดังนั้นผู้ป่วยหมดกังวลได้ หากเกิดกรณีฉุกเฉินต้องการพบแพทย์ สามารถทำการ Video conference ได้อย่างง่ายดาย
-
ลดปริมาณเตียง
การรักษาผู้ป่วยด้วย Telemedicine นั้น ผู้ป่วยสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านแทนการมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งการที่ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านนั้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสบายใจแทนการนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
การใช้งาน Telemedicine
เทคโนโลยี Telemedicine นั้นมีการออกแบบพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป แต่ประเด็นหลัก ๆ ก็คือการรักษาผู้ป่วย ซึ่ง Telemedicine สามารถใช้งานได้ดังนี้
-
เฝ้าระวังสุขภาพ
เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาตัวที่บ้าน จะต้องมีการเฝ้าระวังอาการอยู่ตลอด โดยการนำอุปกรณ์ตรวจวัดค่าต่าง ๆ ไปติดตั้งไว้ที่บ้านของผู้ป่วย เพื่อวัดค่าต่าง ๆ พร้อมเก็บข้อมูล หากมีบางอย่างผิดปกติ ทีมแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวได้ในทันที
-
ให้ปรึกษาทางการแพทย์
ทีมแพทย์สามารถทำการวินิจฉันอาการผู้ป่วยด้วยการสื่อสารพูดคุยที่เห็นหน้าตากันทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีการสอบถามอาการ เพื่อประกอบการวินิจฉัย และให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามได้ตามความเหมาะสม
ตัวอย่างโรงพยาบาลที่นำระบบ Telemedicine มาใช้งาน
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาระบบให้ล้ำหน้าอยู่ตลอด ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่นำ ระบบ Telemedicine มาใช้ เช่น
-
โรงพยาบาลสมิติเวช
ให้บริการ Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชั่น Samitivej Plus, เว็บไซต์ สมิติเวชออนไลน์ และ Line @Samitivej โดยผู้ป่วยสามารถพูดคุยปรึกษาอาการกับทางทีมแพทย์แบบ Real time ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
-
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ให้บริการ Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชั่น Raksa-ป่วยทัก รักษา ซึ่งให้บริการให้คำปรึกษาจากทีมแพทย์ 2 รูปแบบ คือ โทรศัพท์ และ Video call
-
โรงพยาบาลแม่สะเรียง
ให้บริการ Telemedicine ด้วยระบบ Video conference ผ่านดาวเทียม
-
โรงพยาบาลอ่าวลึก
ให้บริการ Telemedicine ด้วยระบบ Video conference ผ่านสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการส่งข้อมูลผู้ป่วย
Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์การรักษาระยะไกลจากทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ และเข้ากับสถานการณ์ Covid-19 ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว ช่วยให้คำแนะนำการรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางไปพบแพทย์